SEO คืออะไร?
SEO คืออะไร?
other updated 1 year ago

SEO คืออะไร?

SEO" หรือ "Search Engine Optimization" คือ วิธีการปรับแต่งเว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงเนื้อหา และการเพิ่ม Backlink ซึ่งเป็นลิงค์ที่มีคุณภาพมายังเว็บไซต์ เพื่อโปรโมทเว็บไซต์ให้ติดอยู่ในอันดับต้นๆ

Image

"SEO" หรือ "Search Engine Optimization" คือ วิธีการปรับแต่งเว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงเนื้อหา และการเพิ่ม Backlink ซึ่งเป็นลิงค์ที่มีคุณภาพมายังเว็บไซต์ เพื่อโปรโมทเว็บไซต์ให้ติดอยู่ในอันดับต้นๆ บน Search Result Page (หน้าแสดงผลการค้นหา) เมื่อกรอก Keyword (คำค้นหา) ที่ต้องการผ่าน Search Engine (เครื่องมือค้นหา) อาทิ Google, Yahoo!, Bing เป็นต้น โดยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ในระยะยาว

เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ค้นหาข้อมูลผ่าน Google มากเป็นอันดันหนึ่งในหลายๆ ประเทศ ทั้งในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนใหญ่จึงเน้นการทำ SEO บน Google เป็นหลัก ทั้งนี้ แต่ละ Search Engine ก็มีหลักการที่ไม่ต่างกันนัก นั่นคือ "User Experience (UX)" หรือ "การมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด" ดังนั้นการทำ SEO ตามหลักของ Google จะเน้นการทำเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ ให้ข้อมูลที่ตรงกับ Keyword ที่ใช้ค้นหา จึงสามารถส่งผลในการทำ SEO ใน Search Engine อื่นๆ อีกด้วย

 

ตัวอย่างหน้าผลการค้นหาของ Google.co.th โดย Keyword คำว่า "ทัวร์ญี่ปุ่น"

 

ในส่วนของกรอบสีแดง คือ ส่วนของ "Organic Search" หรือที่เรียกว่า "Natural Search" ในส่วนนี้เป็นข้อมูลหน้าเว็บไซต์ทั้งหมดที่ทางระบบของ Search Engine อาทิ Google รวบรวมมาโดยใช้ระบบในการจัดอันดับ หรือที่เรียกว่า "Algorithm (อัลกอริทึม)" ซึ่งการให้คะแนนนั้นก็ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่แต่ละ Search Engine ได้กำหนดขึ้น โดยที่เจ้าของเว็บไม่สามารถเลือกตำแหน่งเองได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกวิธีการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอยู่ในอันดับต้นๆ บนหน้าผลการค้นหานี้ว่า "SEO (Search Engine Optimization)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "SEM (Search Engine Marketing)" หรือการทำการตลาดบน Search Engine 

สำหรับในส่วนข้อความที่อยู่เหนือกรอบสีแดง ที่มีคำว่า "โฆษณา" หรือ "Ad" นั้นคือส่วนของการลงโฆษณากับทาง Search Engine ซึ่งเรียกว่า "PPC (Pay Per Click)" โดยเป็นการประมูล Keyword ที่ต้องการให้แสดงโฆษณา และจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายเมื่อมีการคลิกเข้าไปชม สามารถติดอันดับได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปรับปรุงเว็บไซต์ ในขณะที่ส่วนของ SEO นั้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายเมื่อมีคนคลิกเข้าไปชม แต่ก็ต้องใช้เวลา และเราก็ต้องพัฒนาเว็บไซต์พร้อมสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ Search Engine จัดอันดับให้หน้าเว็บไซต์ไปอยู่ในอันดับที่ดีที่สุด

 

Search Engine Algorithm คือ?

ระบบการจัดอันดับการแสดงผลใน Search Result Page (หน้าแสดงผลการค้นหา) มีชื่อเรียกว่า "Algorithm (อัลกอริทึม)" แต่ละ Search Engine จะมีระบบ Algorithm ในการให้คะแนนเว็บไซต์ที่แตกต่างกันและจะมีการอัพเดตอยู่เสมอๆ เพื่อคัดกรองเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพและเพื่อให้ผลการค้นหานั้นตรงตามที่ผู้ใช้งานต้องการมากที่สุด เราจึงจำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์และเนื้อหาให้มีคุณภาพตาม Algorithm เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำอันดับได้ดีที่สุด

 

Algorithm (อัลกอริทึม) ที่ใช้ในการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google ซึ่งเป็น Search Engine หลักที่นิยมใช้ในประเทศไทยและในหลายประเทศทั่วโลกนั้นมีอยู่มากกว่า 100 ปัจจัย แต่เราสามารถสรุป Algorithm ได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ

 

1. ปัจจัยภายใน (On-page / Micro)

ปัจจัยภายในนั้นมาจากการปรับแต่งตัวโครงสร้างเว็บไซต์และเนื้อหาภายในเว็บไซต์ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำ SEO ให้ติดอันดับ ได้แก่

Crawl Ability : โครงสร้างของเว็บไซต์ที่เอื้อต่อการเก็บข้อมูลของ Search Engine

Site Volume : จำนวนหน้าภายในเว็บไซต์ (Index)

Site Theme : ลิงค์เชื่อมโยงเนื้อหาภายในเว็บไซต์ (Internal Link)

Text Match : การเลือกใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Keyword ตลอดจนคุณภาพและปริมาณของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Keyword

ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของผู้ใช้ (User Experience (UX)) เช่น

PageSpeed : ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์

Mobile friendly : เว็บไซต์ใช้งานได้ง่ายบนโทรศัพท์มือถือและรองรับขนาดหน้าจอที่มีขนาดแตกต่างกัน (Responsive Web Design)

Safe Browsing : ความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งเว็บไซต์ต้องไม่มีการฝัง Malware (มัลแวร์) หรือ Spam (สแปม)

HTTPS : การใช้ SSL Certificate ซึ่งช่วยป้องกันการดักข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ใช้กรอกในเว็บไซต์ เช่น ข้อมูลส่วนตัว เลขบัตรเครดิต

Intrusive Interstitial : ไม่มีโฆษณาที่แสดงขึ้นมาจนบังเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ เช่น Popup Ads (โฆษณาป๊อปอัป)

 

2. ปัจจัยภายนอก (Off-page / Macro)

ปัจจัยจากภายนอกที่ช่วยในการทำ SEO นั้นคือ Backlink หรือลิงค์เชื่อมโยงจากเว็บไซต์อื่น โดยอาจเป็นลิงค์ที่ผู้อื่นสร้างให้เว็บไซต์ของเรา เช่น การอ้างอิงที่มาของข้อมูล  หรือลิงค์ที่เราสร้างด้วยตัวเราเอง เช่น การไปลงบทความในเว็บไซต์อื่น การลงทะเบียนเว็บไซต์ในสารบัญเว็บไซต์ ซึ่งปัจจัยภายนอกนี้สามารถแบ่งได้เป็น

Link Popularity : ปริมาณ Backlink ที่เชื่อมโยงมายังเว็บไซต์ของเรา

Site Theme : คุณภาพของเนื้อหาและ Backlink ที่เชื่อมโยงมายังเว็บไซต์ของเรา

 

การทำ SEO สำคัญอย่างไร?

การทำการตลาดด้วย SEO (SEO Marketing) ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับธุรกิจออนไลน์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง การทำ SEO นอกจากจะทำให้เว็บไซต์ติดอันดับบนหน้าผลการค้นหาที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์อีกหลายๆ ด้าน ดังนี้

 

 เพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์

ในปัจจุบัน มีผู้ค้นหาข้อมูลผ่าน Search Engine เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเว็บไซต์ติดอันดับด้วย Keyword ที่มีผู้ใช้ค้นหาเป็นจำนวนมาก ก็มีโอกาสที่จะมี Website Traffic (จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์) มากตามไปด้วย อีกทั้งเมื่อมี Keyword ใดติดอันดับ Keyword ที่ใกล้เคียงกันก็จะติดอันดับไปด้วย จึงจะมีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจาก Keyword อื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกทำ SEO ได้อีก ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการทำ SEO และอัปเดตเพิ่มเติมข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ยอด Traffic ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ สามารถสร้างฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง และช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน

 

 เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการ

การทำ SEO เป็นการทำให้เว็บไซต์ค้นหาเจอด้วย Keyword ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เป็นการทำการตลาดออนไลน์ที่ตรงเป้าหมาย ผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ผ่าน Search Engine ย่อมมีความสนใจใน Keyword นั้นๆ อยู่แล้ว ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากเว็บไซต์ที่เข้าไปชม นอกจากนั้น การที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะขายสินค้าหรือบริการได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ถือเป็นการตลาดที่สามารถเพิ่มยอด Conversion Rate (สัดส่วนของผู้ที่เข้าเว็บไซต์แล้วมีการกระทำอื่นๆ เพิ่มเติม) ได้ดี

 

 โปรโมทเว็บไซต์และแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

โดยส่วนใหญ่เวลาที่คนค้นหาข้อมูลผ่าน Search Engine ก็จะเปิดดูเว็บไซต์ที่อยู่ในหน้าแรกหรือหน้าถัดมาในผลการค้นหาเท่านั้น การที่เว็บไซต์ของเราปรากฏอยู่ในหน้าแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอันดับต้นๆ จะทำให้ชื่อของเว็บไซต์ได้เห็นผ่านตาและเป็นที่รู้จัก แม้ว่าจะยังไม่ได้คลิกเข้ามาดูเนื้อหาในเว็บไซต์ก็ตาม ถือเป็นการสร้าง Brand Awareness (การรับรู้ของแบรนด์) ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญผู้คนมักจะให้ความเชื่อถือเว็บไซต์ที่อยู่อันดับแรกๆ จึงย่อมให้ความมั่นใจและความเชื่อถือกับธุรกิจที่สามารถติดอันดับต้นๆ บนผลการค้นหา ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการในเว็บไซต์นั้นๆ ได้ง่ายขึ้น

 

 ลดค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณา

เนื่องจากทำ SEO ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าเว็บไซต์จะติดอันดับในหน้าแรก จึงเหมาะเป็นการทำการตลาดในระยะยาว และเนื่องจากการคลิกเว็บไซต์ในส่วนของ SEO นั้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเหมือนกับการลงโฆษณาแบบ PPC กับ Search Engine โดยตรง จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ และราคาค่อนข้างถูกกว่าการลงโฆษณากับสื่ออื่นๆ ทั้งนี้หากเลือกทำ SEO ด้วย Keyword ยอดนิยมที่มีคนใช้มากๆ ค่าใช้จ่ายก็อาจสูงตามไปด้วย เพราะมีการแข่งขันที่สูง ดังนั้น เวลาเลือก Keyword จึงควรพิจารณาให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ในการทำการตลาดและความคุ้มค่าในการลงทุน

 

เริ่มต้นทำ SEO กับผู้เชี่ยวชาญ

บริการ SEO »

 

วิธีการทำ SEO ให้ติดอันดับ (อัปเตต 2022)

 

กลยุทธ์สำหรับการทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จมากที่สุดนั้นคือ "การทำ SEO ให้เป็นธรรมชาติที่สุด โดยคำนึงถึง User (ผู้ใช้งาน) เป็นหลัก" จะทำให้ได้เว็บไซต์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง และติดอันดับอย่างยั่งยืน ไม่ต้องกังวลเรื่องการอัพเดท Algorithm มากนัก ซึ่งหลักๆ ก็มีวิธีการทำดังต่อไปนี้

 

กลยุทธ์การทำ On-page SEO

On-page SEO คือ วิธีการปรับปรุงภายในเว็บไซต์ในส่วนของเนื้อหาในหน้าเว็บและโครงสร้างของเว็บไซต์ทั้งในส่วน Coding และการดีไซน์ส่วนต่างๆ

 

  ทำ Keyword Research เพื่อวางแผนการทำ SEO

ควรเลือก Keyword ที่ต้องการทำ SEO ให้สอดคล้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือบทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ควรเลือก Keyword ที่มี Search Volume หรือจำนวนผลการค้นหา เพื่อดูว่ามีผู้ใช้ค้นหามากน้อยเพียงใด
※สามารถดูจากปริมาณการค้นหาและหาไอเดียเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น Google Keyword Planner,  KWFinder, Uber Suggest, Ahrefs 

ควรจัดหมวดหมู่ Keyword อย่างเป็นระบบตามประเภทสินค้าหรือบริการ และ Search Intent (จุดประสงค์การค้นหาของผู้ใช้งาน) เพื่อการจัดทำเนื้อหาได้ตอบโจทย์ User (ผู้ใช้งาน)
ตัวอย่าง:

Informational Keyword คือ คำที่ใช้ค้นหาข้อมูล หรือค้นหาคำตอบ บางครั้งอาจเป็นคำถามก็ได้
เช่น ทัวร์ญี่ปุ่น, วิธีไปญี่ปุ่น, เที่ยวญี่ปุ่น ที่ไหนดี

Navigational Keyword คือ คำที่ใช้ค้นหาเพื่อนำทางไปยังหน้าเว็บไซต์รวมถึงสถานที่ โดยผู้ค้นหามักมีชื่อที่รู้จักอยู่ในใจแล้ว
เช่น บริษัททัวร์ AAA, เช็คอินออนไลน์ การบินไทย, เคาน์เตอร์การบินไทย สุวรรณภูมิ

Commercial Keyword คือ คำที่ใช้ค้นหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจหรือตรวจสอบก่อนการซื้อหรือใช้บริการ
ตัวอย่าง: ทัวร์ญี่ปุ่น บริษัทไหนดี, รีวิวทัวร์ญี่ปุ่น, เปรียบเทียบทัวร์ญี่ปุ่น

Transactional Keyword คือ คำที่ใช้ค้นหาเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการทำธุรกรรมอื่นๆ
ตัวอย่าง: จองทัวร์ญี่ปุ่น, ราคาทัวร์ญี่ปุ่น

ควรกำหนด Keyword หลักและรองในแต่ละหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถจัดทำเนื้อหาในแต่ละหน้าได้ครอบคลุมมากที่สุด

Focus Keyword คือคำหลักในการทำ SEO มักเป็น Broad Keyword  ซึ่งเป็นคำสั้นๆ ความหมายกว้างๆ มี Search Volume จำนวนมากที่สุด เช่น ทัวร์ญี่ปุ่น

Related Keyword คือคำรองที่มีความเกี่ยวข้องกัน มักเป็น Niche keyword หรือ Longtail Keyword ซึ่งเป็นคำที่มีความเจาะจงมากขึ้น มี Search Volume รองลงมา เช่น แพคเกจทัวร์ญี่ปุ่น, ทัวร์ไปญี่ปุ่น, ทัวร์ญี่ปุ่น ราคาถูก, ราคา ทัวร์ญี่ปุ่น

 

  ออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์และเนื้อหา

ควรจัดทำ Sitemap (แผนผังเว็บไซต์) เพื่อช่วยในการวางแผนจัดทำหน้าเว็บไซต์ต่างๆ และดูการเชื่อมโยงของแต่ละหน้า
※ควรแบ่งเนื้อหาตามหมวดหมู่ Keyword ที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการทำ Keyword Research

ควรแบ่งหน้าเว็บไซต์ให้เป็นระบบตามลำดับชั้น เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำ SEO และช่วยดันอันดับ Keyword ได้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่าง:

หน้าหมวดหมู่หลัก → ทัวร์ญี่ปุ่น

หน้าหมวดหมู่รอง → ทัวร์โตเกียว, ทัวร์โอซาก้า, ทัวร์ฮอกไกโด

ควรจัดทำเนื้อหาในแต่ละหน้าให้เหมาะกับ Search Intent โดยดูได้จากเนื้อหาของเว็บไซต์ที่ติดในหน้าแรกใน Keyword ต่างๆ
ตัวอย่าง: Informational Keyword เช่น

ทัวร์ญี่ปุ่น → ควรสร้างหน้าบริการทัวร์ญี่ปุ่นเพื่อรวบรวมแพคเกจทัวร์ญี่ปุ่นที่มีอยู่ทั้งหมด

Navigational Keyword เช่น

เช็คอินออนไลน์ การบินไทย → ควรสร้างสร้างบทความในบล็อก เพื่อแนะนำช่องทางและวิธีการเช็คอิน

Commercial Keyword เช่น

ทัวร์ญี่ปุ่น บริษัทไหนดี, เปรียบเทียบทัวร์ญี่ปุ่น → ควรสร้างบทความในบล็อก เพื่อแนะนำบริษัททัวร์

Transactional Keyword เช่น

จองทัวร์ญี่ปุ่น, ราคาทัวร์ญี่ปุ่น → สามารถใช้หน้าบริการทัวร์ญี่ปุ่น โดยมีปุ่มให้จองและมีการแสดงราคาของแต่ละแพ็คเกจ

 

  ใส่ Keyword ในเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพ

ควรกำหนด Focus Keyword ให้แต่ละหน้าเว็บไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้หน้าเว็บที่ต้องการติดอันดับที่ดีที่สุด

ควรใส่ Keyword อย่างพอเหมาะในส่วนที่มีความสำคัญต่างๆ ภายในแต่ละหน้าของเว็บไซต์ เช่น

Title Tag, Meta Description ซึ่งจะแสดงชื่อหัวข้อและคำบรรยายบนหน้าผลการค้นหา

H1 tag ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของหน้าเว็บไซต์นั้นๆ และ H2 tag ซึ่งเป็นหัวข้อรองลงมา

Plain Text ซึ่งเป็นเนื้อหาปกติบนหน้าเว็บไซต์

Alt Text (Alt Tag) ซึ่งเป็นคำอธิบายรูปภาพ

Anchor Text  (A Tag) ซึ่งเป็นลิงค์แบบข้อความ

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ Keyword ซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมากเพื่อไม่ให้เป็น Keyword Spam หรือ Keyword Stuffing อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมชาติเวลา User (ผู้ใช้งาน) มาอ่านเนื้อหา

 

 สร้างและเพิ่มเติมเนื้อหาที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนอง User

ควรสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการทำ SEO ในหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการให้ติดอันดับ ตลอดจนหน้าเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกัน พร้อมทำลิงค์เชื่อมโยงเพื่อให้อ่านต่อ

ควรเขียนเนื้อหาที่ให้ข้อมูลที่เจาะลึกและมีประโยชน์ เพื่อให้เป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพมากที่สุดในสายตาของ User และ Search Engine

ควรเขียนเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของ User หรือที่เรียกว่า Search Intent เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการค้นหาด้วย Keyword ต่างๆ

ควรเขียนเนื้อหาหรือเรียบเรียงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่คัดลอกมาจากที่อื่น และไม่ใช้เครื่องมืออัตโนมัติในการสร้างบทความ หรือที่เรียกว่าการสปินบทความ

ควรแบ่งหัวข้อเนื้อหาเป็นหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย เพื่อให้ User อ่านเข้าใจง่าย และใช้ H2 tag - H6 tag กำกับตามลำดับชั้นเพื่อให้ Search Engine เข้าใจโครงสร้างเนื้อหา

ควรสร้างหน้าเว็บไซต์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนหน้าในเว็บไซต์ เช่น บล็อก สาระความรู้ โดยเนื้อหาควรมีความเกี่ยวข้องกับธีมเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ และมีความยาวประมาณ 500 คำขึ้นไป

 

 สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับ User

ควรทำหน้าเว็บไซต์ให้รองรับกับอุปกรณ์มือถือ (Mobile-friendly) ซึ่งปัจจุบันยอดผู้เข้าชมส่วนใหญ่ประมาณ 80% มาจากช่องทางนี้ และ Google ได้ใช้เนื้อหาบน Mobile ในการจัดอันดับเว็บไซต์
※รูปแบบที่แนะนำคือ Responsive Web Design

ออกแบบเว็บไซต์โดยคำนึงถึงหลัก UX/UI Design โดยทำให้ใช้งานง่าย และมีความสวยงาม จน User ประทับใจและอยากกลับมาใช้งานอีก

ควรติดตั้ง SSL Certificate เพื่อทำ HTTPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานเว็บไซต์ให้กับ User

ควรเลือกใช้บริการ Hosting ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เว็บไซต์มีความสเถียร ไม่ล่มง่าย รองรับการใช้งานเมื่อมีผู้เข้าใช้เป็นจำนวนมาก และทำให้เว็บไซต์โหลดได้เร็ว

ควรแทรกรูปภาพหรือวิดีโอระหว่างบทความ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับเนื้อหา ดึงดูดให้ User อ่านต่อและอยู่บนหน้าเว็บไซต์นานๆ

ควรมี Call to Action อย่างชัดเจน เช่น สั่งซื้อสินค้า ติดต่อสอบถาม เพื่อบอกว่า User ควรทำอะไรต่อ และไปเยี่ยมชมหน้าอื่นๆ ต่อ

ควรทำหน้าเว็บไซต์ให้โหลดได้รวดเร็วเพื่อไม่ให้ User ต้องรอนาน เช่น ใช้ระบบ Cache, ลดขนาดรูปภาพและไฟล์, แปลงไฟล์รูปภาพเป็น WebP, ทำ Lazy Loading ให้โหลดรูปเมื่อเลื่อนมาถึง

หลีกเลี่ยงการใช้โฆษณาที่รบกวนการใช้งานของ User (Intrusive Interstitial) เช่น Popup ที่เด้งขึ้นเต็มจอ จนบังเนื้อหาในเว็บไซต์ไปเกือบหมด

 

 ปรับปรุงโครงสร้างเว็บไซต์ให้เป็นมิตรกับ Search Engine และ User

สามารถใส่ Canonical Tag (rel="canonical) เพื่อให้ Google จดจำ URL ที่ต้องการ ในกรณีที่มีเนื้อหาซ้ำๆ กันหลายหน้า

ควรทำเมนูนำทาง (Navigation) ให้เป็นระเบียบ ดูเข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ง่าย
ตัวอย่าง: Home › Product › Category › Sub-category

ควรเลือกใช้โครงสร้าง URL แบบ Static ที่ Search Engine สามารถอ่านได้ง่าย
※หลีกเลี่ยงการใช้ URL แบบ Dynamic ที่มีเครื่องหมาย เช่น ? และ =

ควรเลือกใช้โครงสร้าง URL ที่ User สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย
※ควรใช้คำภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย และใช้เครื่องหมาย - แบ่งระหว่างคำ เช่น ..../what-is-seo/

ควรแยก URL หากเว็บไซต์มีหลายภาษา เช่น .../en/, .../jp/
※ไม่ใช้ Cookies ในการเปลี่ยนภาษา เพราะ URL จะไม่มีการเปลี่ยนตาม ทำให้ Search Engine ไม่สามารถอ่านภาษาอื่นๆ ได้

ใช้ Schema Markup เพื่อให้ Google เข้าใจเนื้อหาในหน้าเว็บไซต์ได้มากขึ้น

 

 อัพเดตเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ

ควรปรับปรุง หรือเพิ่มเติมข้อความในหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการให้ติดอันดับ เพื่อเนื้อหามีการอัพเดตอยู่ตลอด

ควรเพิ่มข้อมูลใหม่ๆ ในเว็บไซต์ เช่น สินค้ามาใหม่ ข่าวสาร โปรโมชั่น ผลงานล่าสุด เพื่อให้เว็บไซต์มีความสดใหม่อยู่เสมอ

 

 

กลยุทธ์การทำ Off-page SEO

Off-page SEO คือ การใช้ปัจจัยภายนอกจากเว็บไซต์ในการช่วยเพิ่มอันดับ ซึ่งก็คือลิงค์อ้างอิง หรือที่เรียวกว่า Backlink เชื่อมโยงจากเว็บต่างๆ มายังเว็บไซต์ของเรา

 

 เพิ่ม Backlink ที่มีคุณภาพ

ควรสร้างลิงค์จากเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ และมีเนื้อหาหรือบริบทเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์หรือ Keyword ของเรา

ควรทำ Backlink เป็น "DoFollow" ซึ่งสามารถส่งคะแนน SEO มาให้เว็บไซต์ของเรา (หากเป็น NoFollow จะมีโค้ด rel="nofollow" กำกับอยู่ที่ลิงค์)

ควรเขียนเนื้อหาบทความในการทำ Backlink ให้มีน่าสนใจและมีประโยชน์ เพราะลิงค์ที่สามารถเพิ่ม Website Traffic โดยทำให้คนอ่านคคลิกต่อมายังเว็บไซต์ของได้ถือได้ว่าเป็น Backlink ที่มีคุณภาพอย่างมาก

ควรหลีกเลี่ยงการสร้างลิงค์ด้วยบทความเดิมซ้ำๆ หรือการ Spin บทความโดยใช้โปรแกรมเพื่อสร้างบทความใหม่ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ User อ่านไม่รู้เรื่อง

 

 เพิ่ม Backlink อย่างเป็นธรรมชาติ

ควรสร้าง Backlink อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรระดมยิงลิงค์จำนวนมากมารวดเดียวในระยะเวลาสั้นๆ

ควรทยอยเพิ่ม Backlink ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ ป้องกันการโดนแบนจาก Search Engine โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Google

ควรหลีกเลี่ยงการสร้าง Backlink ด้วยการโพสตามเว็บบอร์ดหรือเว็บประกาศเป็นจำนวนมาก เพราะเป็น Spam และมีโอกาสทำให้อันดับตกได้

สามารถสร้าง Backlink แบบ NoFollow ได้ แต่ไม่ควรสร้างเป็นจำนวนมากจนผิดปกติ เพราะอาจโดนมองว่าเป็น Spam ได้เช่นกัน

 

แนวทางการรักษาอันดับ

หลังจากเริ่มทำ SEO ไปได้สักระยะหนึ่ง จะเริ่มเห็นการพัฒนาของอันดับไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและคุณภาพของเว็บไซต์ของเรา รวมทั้งการแข่งขันใน Keyword นั้นๆ และคุณภาพเว็บไซต์ของคู่แข่ง

โดยทั่วไปแล้วอันดับจะไต่ขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากอันดับของเว็บไซต์ยังไม่ดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ จำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาภายในเว็บไซต์กับเพิ่มจำนวน Backlink ที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อเว็บไซต์ติดในหน้าแรกของผลการค้นหาแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องอัพเดตเว็บไซต์อยู่ตอด เพิ่มเติมเนื้อหา และเพิ่ม Backlink อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาอันดับเอาไว้

แนะนำให้ลงบทความหรือหรืออัพเดทบล็อกสม่ำเสมอ ด้วยบทความที่น่าสนใจ มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์หรือ Keyword ที่ทำ SEO สามารถช่วยเพิ่ม Traffic ให้ได้ และช่วยในการรักษาอันดับได้เป็นอย่างดี

 

ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำ SEO

ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ยืนยันจาก Google ว่ามีผลต่อการจัดอันดับ แต่เป็นสัญญาณที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพดีหรือไม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้พัฒนาหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ได้ปรับปรุงเพิ่มเติม

 

สัญญาณจากผู้ใช้เว็บไซต์ (User Signals)

ข้อมูลการใช้งานของเว็บไซต์สามารถดูได้จาก Google Analytics ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Users), รายงานข้อความค้นหาของคีย์เวิร์ด (Queries) และ อัตราการคลิกเข้าชมเว็บไซต์ผ่าน Keyword นั้นๆ (CTR) เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นสัญญาณที่สำคัญที่ใช้วัดคุณภาพของเว็บไซต์ได้

ด้วยเหตุนี้เองเว็บไซต์ที่ต้องการทำ SEO จึงควรติด Google Analytics และ Search Console เพื่อให้ Google เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวและเราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพเว็บไซต์ของตัวเองได้

 

สัญญาณจาก Social Media (Social Media Signals)

จำนวน Likes และ Shares ของลิงค์หน้าเว็บไซต์ รวมทั้ง Traffic จาก Social Media ต่างๆ ได้แก่ Facebook, Twitter และ Pinterest มีส่วนช่วยในการจัดอันดับเว็บไซต์

การสร้างบทความที่มีประโยชน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักในเว็บไซต์และใช้ Social Media เป็นช่องทางในการกระจายบทความไปยังผู้ใช้ เพื่อดึงให้คนเข้ามาอ่านบทความและเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์ จึงเป็นวิธีการที่ช่วยให้ทำอันดับบน Google ได้ดีและติดอันดับเร็วขึ้น

SEO
0
0
0
0
0
0
0
0
0
0 Comments

Follow Us on Facebook