อะไรคือ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” ?
อะไรคือ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” ?
เรื่องเด่น updated 6 months ago

อะไรคือ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” ?

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายท่านคงสงสัยเหมือนผม เพราะทุกครั้งที่เราเห็นวิดีโอข่าวเกี่ยวกับปาเลสไตน์ เราจะเห็นภาพคนยืนถือป้าย “Free Palestine - ปลดปล่อยปาเลสไตน์” กันเยอะแยะ

Image

อะไรคือ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” ?

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายท่านคงสงสัยเหมือนผม เพราะทุกครั้งที่เราเห็นวิดีโอข่าวเกี่ยวกับปาเลสไตน์ เราจะเห็นภาพคนยืนถือป้าย “Free Palestine - ปลดปล่อยปาเลสไตน์” กันเยอะแยะ

ในหัวผมมีอยู่ 2 คำถาม “ปลดปล่อยปาเลสไตน์จากใคร?” และ “อ้าว ปาเลสไตน์ไม่ใช่รัฐหรือประเทศอยู่แล้วหรือ?”

ผมไปค้นหาข้อมูลอ่านอยู่หลายแห่ง แล้วก็บังเอิญได้ไปชมสารคดีของ Vox ที่เขาพาขับรถไปชมดินแดนปาเลสไตน์และทำสารคดีมีแผนที่ที่สวยงามออกมาอธิบาย ก็จึงขอนำมาย่อและเรียบเรียงให้เพื่อนๆได้อ่านกันดังนี้ครับ

.

.

.

ก่อนจะไปต่อ ต้องขอย้อนประวัติศาสตร์กันสั้นๆสักนิดหนึ่งนะครับ เพราะถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้ เราจะไม่มีวันเข้าใจปัญหาของคนปาเลสไตน์เขาเลย

ก่อนปี 1947 ปาเลสไตน์ยังเป็นแผ่นดินผืนใหญ่ผืนเดียวอยู่ภายใต้อาณัติอังกฤษ ประชากร 90% เป็นชาวอาหรับ

อังกฤษเริ่มอนุญาตให้ชาวยิวอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ได้ตั้งแต่ปี 1890 ทำให้มีการกระทบกระทั่งฆ่าฟันระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวบ้าง แต่ยังไม่มีการตั้งรัฐอิสราเอล

ปี 1947 สหประชาชาติประกาศให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็นสองรัฐ คือ รัฐปาเลสไตน์ กับ รัฐอิสราเอล การประกาศนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์เดิมต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยราวๆ 9 แสนคนเพราะทหารอิสราเอลฆ่าสังหารหมู่และใช้อาวุธขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเมืองเดิม

ดินแดนปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ “เวสท์แบงก์” กับ “กาซ่า”

อิสราเอลได้ตั้งขึ้นเป็นประเทศ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านชาวอาหรับ ระหว่างนี้ก็เกิดสงครามรบกันบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นอิสราเอลที่ได้ชัยชนะ

ผ่านไปอีก 20 ปี....

ปี 1967 เกิดสงครามที่ชื่อว่า “สงครามหกวัน”

เหตุที่เรียกว่าสงครามหกวันก็เพราะเขารบกันจบภายใน 6 วัน เป็นสงครามที่ประเทศอาหรับรอบอิสราเอล คือ อิยิปต์ จอร์แดนและซีเรีย รุมกินโต๊ะอิสราเอล

ตอนแรกอิสราเอลทำท่าจะแพ้ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ากองทัพอิสราเอลฮึดสู้และบุกยึดพื้นที่ออกไปได้กว้างไกลกว่าพื้นที่ประเทศเดิมของตัวเอง คือ ยึดเวสท์แบงก์และกาซ่าได้ทั้งหมด แถมยังข้ามไปฝั่งอิยิปต์ได้เสียอีก

.

.

.

ไฮไลท์อยู่ที่ตรง”เวสท์แบงก์”นี้เองครับ

อ้อ...ที่เขาเรียกดินแดนตรงนี้ว่า “เวสท์แบงก์ - West Bank” เพราะอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนครับ

เมื่อกองทัพอิสราเอลบุกเข้าไปยังพื้นที่ฝ่ายข้าศึกได้ไกลเหลือเกิน พอสงครามหกวันจบปุ๊บ รัฐบาลอิสราเอลก็มานั่งคิดว่าจะเอายังไงกับดินแดนพวกนี้ดี จะยึดเป็นของอิสราเอลไปเลยดีไหม? หรือ จะคืนกลับให้เจ้าของเขาดี?

ระหว่างที่รัฐบาลอิสราเอลกำลังถกเถียงกันอยู่นี้ ชาวยิวจำนวนมากก็ไม่ได้สนใจใครทั้งสิ้น พากันยกครอบครัวอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวสท์แบงก์กันดื้อๆอย่างนั้นแหละ ทั้งที่เป็นดินแดนของรัฐปาเลสไตน์เขา

กว่าที่สหประชาชาติจะรู้ตัวว่าชาวยิวได้ทำอะไรให้มันวุ่นเข้าแล้ว เวลาก็ผ่านไปสิบปี

ปี 1979 สหประชาชาติจึงออกประกาศว่า “ผู้อพยพชาวยิวเหล่านี้เป็นพวกกระทำผิดกฎหมาย” แต่ในขณะนั้นชาวยิวทั้งหลายก็ข้ามชายแดนมาตั้งเมือง สร้างชุมชนกันในฝั่งเวสท์แบงก์ของปาเลสไตน์กันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว โดยที่รัฐบาลอิสราเอลก็แอบสนับสนุนสร้างโน่นนี่ให้อยู่เรื่อยๆ

แม้จะมีแถลงการณ์สหประชาชาติและนานาชาติร่วมกันประณามอิสราเอล แต่ชาวยิวและรัฐบาลอิสราเอลก็มิได้นำพา กลับพากันชักชวนไปตั้งเมืองใหญ่ แถมรัฐบาลอิสราเอลยังไปช่วยสร้างถนนเชื่อมระหว่างชุมชนชาวยิวเสียอีก

ทั้งๆที่ในเวลานั้นเวสท์แบงก์มีชาวปาเลสไตน์เขาอาศัยอยู่แล้วตั้ง 1.1 ล้านคน

ขอให้ชมภาพประกอบครับ ภาพนี้คือ “เวสท์แบงก์” .....พื้นที่สีเขียวอ่อนๆ คือ ชุมชนชาวปาเลสไตน์ ส่วนพื้นที่สีฟ้า เข้มๆคือ ชุมชนชาวยิวอิสราเอล

.

.

.

เมื่อการณ์เป็นดังนี้แล้ว ชาวปาเลสไตน์เขาจึงรู้สึกว่า “อ้าว ตอนแรกมาแบ่งดินแดนของเราให้พวกยิวไปตั้งประเทศอิสราเอล เราก็ยอมไปแล้ว ทำไมตอนนี้พวกยิวถึงยังจะตามมาสร้างเมืองในฝั่งของเราอีกล่ะ?”

ทำให้เกิดการฆ่าทำร้ายกันระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวในฝั่งเวสท์แบงก์อยู่เรื่อยๆ

ผ่านไปอีกเกือบ 20 ปี คือ ประมาณปี 1995 นายบิล คลินตันจึงเชิญผู้นำปาเลสไตน์กับผู้นำอิสราเอลมาคุยกัน และเซ็นสัญญาตกลงกันในเรื่องแบ่งดินแดนในเวสท์แบงก์ออกเป็นสามโซน

โซน A....ดินแดนที่เป็นชุมชนหลักของปาเลสไตน์ ให้รัฐปาเลสไตน์ควบคุมทั้งหมด (เขียวอ่อน)

โซน B....ดินแดนโดยรอบชุมชนปาเลสไตน์ ให้รัฐปาเลสไตน์ปกครอง แต่มีกำลังทหารอิสราเอลดูแลความปลอดภัย (เขียวเข้ม)

โซน C....พื้นที่ที่เหลือทั้งหมด ให้อิสราเอลควบคุม (ฟ้าทั้งอ่อนทั้งแก่)

ข้อตกลงนี้เรียกว่า “ข้อตกลงออสโล - Oslo Accord”

ตอนแรกก็ดูเหมือนจะดี อเมริกาได้หน้า แต่ชาวปาเลสไตน์เขามองว่ายังไงๆเขาก็ขาดทุน เพราะพื้นที่โซน A กับ B รวมกันก็ยังไม่ถึง 40% ของพื้นที่เวสท์แบงก์ทั้งหมด

ที่เหลืออีก 60% กลายเป็นของอิสราเอลเสียอย่างนั้น

นี่แหละครับคือที่มาของคำว่า “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” เพราะดินแดนเวสท์แบงก์ของปาเลสไตน์กว่า 60% อยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล

นอกจากในเรื่องดินแดนแล้ว ทุกวันนี้ปัญหาของชาวปาเลสไตน์ในเวสท์แบงก์คือ ชุมชนชาวยิวอิสราเอลยังขยับขยายไปเรื่อยๆ และลุกลามไปถึงยึดครองแหล่งน้ำทั้ง แม่น้ำ, ลำธารและตาน้ำที่ชาวไร่ชาวนาปาเลสไตน์เขาเคยใช้เพาะปลูก

เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้คือเรื่องสำคัญ เพราะชาวปาเลสไตน์เดือดร้อนมาก

.

.

.

แล้วทำไมอิสราเอลถึงได้อะไรกับเวสท์แบงก์นักหนา?

คำตอบคือ “เมืองเยรูซาเล็ม” ครับ เพราะเยรูซาเล็มนั้นตั้งอยู่ตรงรอยต่อตรงกลางระหว่างชายแดนอิสราเอลกับเวสท์แบงก์พอดี การที่อิสราเอลมายึดเวสท์แบงก์ไว้ ทำให้เขาขยับเข้ามาใกล้นครแห่งความศักดิ์สิทธิ์นี้ได้อีก

ผู้จัดทำสารคดีเขาไปสัมภาษณ์ชาวยิวที่เข้าไปสร้างบ้านอยู่ในเวสท์แบงก์ว่า “คิดยังไงถึงได้เข้ามาอยู่อาศัยตรงนี้ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ใช่แผ่นดินตนเอง”

คำตอบส่วนใหญ่คือ “อยู่ตรงนี้แล้วมันสงบดี ชีวิตดีกว่าอยู่ฝั่งอิสราเอล”

มีคนหนึ่งตอบว่า “เดี๋ยวชาวยิวก็อพยพเข้ามาเพิ่มเองแหละ นี่มันคือชาวยิวกำลังได้กลับบ้านนะ”

ผมพยายามเขียนย่อสารคดีนี้โดยไม่ใส่ความรู้สึกส่วนตัว แต่พอฟังคำตอบแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดขึ้นมาว่า “เข้าใจแล้วละว่า ทำไมยุโรปยุคโน้นเขาถึงรังเกียจชาวยิว”

ทุกวันนี้สภาพชุมชนชาวยิวในเวสท์แบงก์นั้นคือ “เมืองขนาดใหญ่” ครับ มีหมู่บ้านจัดสรร มีบริษัทอิสราเอล มีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆไปตั้งเป็นเรื่องเป็นราว

แถมรัฐบาลอิสราเอลก็แสบ กล่าวคือ หากชาวยิวอพยพมาอาศัยอยู่ในเวสท์แบงก์ของปาเลสไตน์ รัฐบาลจะช่วยค่าบ้าน ช่วยค่าเล่าเรียนลูก เป็นจำนวนเงินที่มากกว่าชาวยิวที่อยู่ในประเทศอิสราเอลเสียอีก

แถมยังมีกำลังทหารอิสราเอลมาตั้งอยู่ในปาเลสไตน์อีกด้วย

.

.

.

เริ่มเข้าใจกันแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมเขาถึงมีแคมเปญ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์ - Free Palestine”

ใครที่สนใจชมสารคดีต้นฉบับก็เชิญตามลิงก์ข้างล่างนี้นะครับ ผมขอเชียร์ให้ไปชมกันครับ เพราะจะเข้าใจมากกว่าที่ผมสรุปอีกเยอะเลย

 

 

Ref. Nat Tharapong Rungroj

0
0
0
0
0
0
0
0
0
0 Comments

Follow Us on Facebook